คุณคิดว่าเรือดำน้ำว่ายน้ำหรือเปล่า


หากใครที่รู้จักเกม Overwatch ก็น่าพอรู้จักกับ เซนยัตตะ หุ่นยนต์นักบวชผู้ออกเดินทางหาทางหลุดพ้น ความขัดแย้งที่เครื่องจักรให้ความสนใจกับเรื่องทางจิตวิญญาณซึ่งค่อนข้างเป็นนามธรรม ถึงขนาดออกบวชทั้งๆ ที่สิ่งที่ก่อเกิดเป็นตัวตนของพวกเขาเป็นเพียงโปรแกรม ทำให้ตัวละครเซนยัตตะมีเอกลักษณ์น่าจดจำ นอกจากนี้การที่เขาเป็นอาจารย์ของเก็นจิ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนมากก็น่าจะทำให้คนจำเขาได้ไม่ยาก

ศาสนา Shambali ที่เซนยัตตะเคยร่วมเข้ารีตนั้นอยู่ในประเทศเนปาล อีกทั้งเครื่องแต่งกาย หลักคำสอนยังค่อนข้างคล้ายกับศาสนาพุทธ พวกเขามีการนั่งสมาธิเจริญภาวนา และเชื่อว่าหากได้พูดคุยทำความเข้าใจกันอย่างจริงจัง มนุษย์ และ Omnic จะสามารถอยู่ด้วยกันอย่างสมัครสมาน เสมอภาค รักใคร่กลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวทั้งหมู่เหล่า ทว่าตัวเซนยัตตะกลับไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะเขาคิดว่าแม้จะได้พูดคุยทำความเข้าใจกันแล้วก็ใช่ว่าทุกคนจะมีคำตอบเดียวกัน เซนยัตตะให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจคของบุคคลซึ่งเป็นแนวความคิดแบบเสรีนิยมตะวันตกสมัยใหม่ บทพูดบางประโยคของเขามาจากนักปรัชญา หรือนักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรป ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดของ Shambali เสียทุกอย่าง ความคิดของเซนยัตตะจึงมีทั้งความเป็นตะวันออก และตะวันตกผสานกันอยู่

ในโลกของ Overwatch ผู้คนมีความคิดแตกเป็น 2 ฝั่ง ส่วนแรกเชื่อในแนวความคิดของมอนดัตตะ ศาสดาของศาสนา Shambali ว่า Omnic ก็สามารถตื่นรู้ ละทิ้งโปรแกรมเดิม และสร้างจิตวิญญาณ สำนึกในตัวตนได้ จึงควรได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมเช่นมนุษย์ผู้หนึ่ง และพวกเขาก็สามารถอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ได้ ส่วนอีกฝั่งคิดว่าไม่ว่าอย่างไร Omnic ก็ยังเป็นเพียงเครื่องจักร จิตวิญญาณของพวกเขาก็เป็นเพียงโปรแกรม หาได้มีสำนึกในตัวตนจริงตามที่กล่าวอ้าง พวกเขาจึงไม่ควรถูกยกสถานะขึ้นมาเทียบเท่ามนุษย์ และเป็นตัวอันตรายที่อาจทำร้ายใครได้ทุกเมื่อ ความเห็นที่ขัดแย้งนี่เองที่เป็นเหตุให้หลังสงคราม Omnic Crisis มนุษย์ และ Omnic จึงยังมีปัญหากันเรื่อยมา

ความคิดของฝั่งใดที่ถูกต้อง Omnic อย่างเซนยัตตะมีจิตวิญญาณอยู่จริงหรือไม่ หรือพวกเขาก็ยังเป็นเพียงโปรแกรม การที่มอนดัตตะ และ Omnic ในศาสนาของเขาได้ละทิ้งโปรแกรมเดิมที่ถูกตั้งไว้ และสร้างตัวตนใหม่ด้วยตนเองจะถือได้ว่าพวกเขาตื่นรู้ สำนึกในตัวตนหรือเปล่า หากให้คนที่เชื่อ และไม่เชื่อมาถกเถียงกันคงจะไม่ได้คำตอบ เพราะต่างคนก็ต่างมีจุดยืนความคิดที่อยู่คนละขั้ว และสถานการณ์นี้เองที่น่าจะเป็นที่มาของบทพูดของเซนยัตตะประโยคหนึ่ง

Do I think? Does a submarine swim?
ฉันคิดได้เองหรือเปล่าเหรอ แล้วเรือดำน้ำว่ายน้ำหรือเปล่าล่ะ

เรือดำน้ำว่ายน้ำหรือเปล่าล่ะ

คำถามนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำพูดของ Edsger Wybe Dijkstra นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ชาวดัชท์ เมื่อเขาถูกถามว่าแท้จริงแล้วคอมพิวเตอร์คิดได้เองหรือไม่ และมันก็กลายเป็นประโยคที่ชวนให้ผู้คนมากมายถกเถียงกันในเวลาต่อมา

หากคิดตามหลักการแล้วก็จะได้คำตอบว่าเรือดำน้ำแม้จะอยู่ในน้ำ แต่มันก็ไม่ได้ว่ายน้ำอยู่ มันเพียงแค่เคลื่อนตัวไปข้างหน้าด้วยพลังงานจากเครื่องจักรเท่านั้น แต่ถ้ามีใครแย้งขึ้นมาว่าแล้วการที่มันเคลื่อนตัวในน้ำเช่นนั้นก็เหมือนกับการว่ายน้ำไม่ใช่หรือ แล้วทำไมเราจึงบอกว่าเรือดำน้ำไม่ได้ว่ายน้ำกัน คุณคิดว่าความคิดของเขาผิดหรือเปล่า

เราจะบอกได้หรือไม่ว่าความคิดของเราถูก และความคิดของอีกฝ่ายผิด ในเมื่อที่จริงแล้วความถูกผิดนั้นเกิดจากมุมมองที่แตกต่างระหว่างบุคคล และมันก็คงเป็นกรณีเดียวกับคำตอบที่ว่า Omnic มีจิตวิญญาณ หรือควรได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับมนุษย์หรือไม่

René Descartes' นักปรัญญาชาวฝรั่งเศสเคยนึกสงสัยในตัวตนของตัวเองเช่นกันว่าตัวเขานั้นที่แท้แล้วมีอยู่หรือไม่ ประสบการณ์ได้บอกกับเขาว่าความเห็นของสังคม บุคคลใด หรือแม้แต่ตัวเขาเองก็มีหลายครั้งที่ไม่เป็นความจริง เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องที่สุดเขาจะต้องละทิ้งความคิดพวกนั้นกลับสู่ความว่างเปล่า เริ่มตั้งคำถามแต่แรกว่าเขาคือใคร เป็นคนเช่นไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น Descartes' คิดแล้วคิดเล่า จนวันหนึ่งเขาก็ได้ค้นพบคำตอบ

การที่เขาคิดนี่เองคือสิ่งที่แสดงตัวตนของเขา ความคิดมีตัวตนจริงในหัวของเขา เป็นสิ่งที่มีเพียงเขาเท่านั้นที่รับรู้ เป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับอารมณ์หรือเหตุผลใดๆ ที่เคยมีอยู่บนโลก ความคิดที่เป็นตัวของเขาเองเพียงคนเดียว แล้ว Descartes' ก็ได้สรุปออกมาด้วยประโยคเดียวกันกับที่เซนยัตตะเอ่ยในเกมอีกประโยค

I think therefore I am.
ฉันคิด ฉันถึงมีตัวตน

เช่นเดียวกับมอนดัตตะ เซนยัตตะ และ Omnic ที่ทิ้งโปรแกรมที่ถูกตั้งไว้ของตน กลับสู่ความความว่างเปล่า เฝ้าครุ่นคิดหาคำตอบจนตระหนักรู้ในตัวตน สร้างสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าจิตวิญญาณที่เป็นของตนเองขึ้นมา สิ่งนี้พอจะทำให้เรายอมรับหรือไม่ว่าทั้งมนุษย์และ Omnic ไม่ต่างกัน และหากยังคิดว่าต่างอยู่ ใครที่เป็นคนกำหนดนิยามของความต่างนั้น และมันเป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือเปล่า

ลัทธิเต๋าเองก็มีความคิดว่าทุกอย่างนั้นล้วนไม่มีอยู่จริง และที่มันมีอยู่ก็เป็นเพียงเพราะเราได้มอบนิยามของเราให้มันเท่านั้น เราจะเลือกเล่นตัวละครในเกมคนไหน ตัวละครไหนเก่งกว่าตัวไหน บางทีมันก็อาจไม่มีเคยมีคำตอบที่ถูกต้อง เหมือนที่เซนยัตตะกล่าวตอนที่เลือกตัวละครของเขา

True Self is Without Form.
ตัวตนที่แท้จริงนั้นไม่มีรูปร่าง

แต่สุดท้ายความคิดที่แสดงความเป็นตัวตนของแต่ละบุคคลก็ไม่มีทางเหมือนกันทั้งหมด แม้ทุกคนจะสำรวจความคิดตัวเองแล้วก็ใช่ว่าจะได้คำตอบตรงกัน มนุษย์อยู่กับ Omnic ได้หรือไม่ควรอยู่ด้วย ไม่ว่าอย่างไรก็ย่อมมีความคิดที่ต่างออกไป และความถูกผิดทุกอย่างนั้นล้วนเกิดจากนิยามที่เรามีต่อมัน

Life is more than a series of ones and zeroes.
ชีวิตไม่ได้มีคำตอบเพียง 0 หรือ 1

หากพูดคุยแล้วก็ยังไม่อาจมีความเห็นตรงกัน จะไม่เป็นการดีกว่าหรือที่เราจะให้ความเคารพต่อความคิดที่ต่างเหล่านั้น แทนที่จะไปบีบบังคับหรือตีตราต่อว่า แล้วหันไปใช้ชีวิตตามที่ตนเชื่อโดยไม่ไปก้าวก่ายชีวิตของอีกฝ่าย

คิดว่า Omnic มีจิตวิญญาณหรือไม่ คิดว่าพวกเราอยู่ด้วยกันได้หรือไม่
หากคิดว่าเราอยู่ด้วยกันได้ก็มาอยู่ร่วมกัน
หากคิดว่าไม่ก็แยกย้าย ต่างคนต่างอยู่

และสิ่งนี้ก็น่าจะเป็นแนวความคิดของเซนยัตตะ นักบวช Omnic ที่ช่วยทำให้เก็นจิตระหนักว่าการที่ตัวเขาไม่ได้เป็นทั้งมนุษย์ หรือไซบอร์คอย่างแท้จริงเลยนั้นไม่ได้ทำให้คุณค่าของเขาหมดไป

แล้วคุณล่ะคิดว่าเรือดำน้ำว่ายน้ำหรือเปล่า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Spoil NieR Automata Part 27 Ending E : the End of YoRHa และวิเคราะห์เนื้อเรื่องทั้งหมดตามใจฉัน

ผ้าปิดตาของ YoRHa